ฅนจริงใจไม่ท้อ ตอน "ครูเจน...แม่พิมพ์ของชาติ" 05/09/2563





85 เข้าชม
Published
ฅนจริงใจไม่ท้อ ตอน "ครูเจน...แม่พิมพ์ของชาติ" 05/09/2563

สุดยอดครู! แม่พิมพ์แห่งชาติ
หากจะพูดถึง ครูเจน พวงมาลี คงจะมีน้อยคนในอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรีที่ไม่รู้จัก เพราะชั่วชีวิตของการเป็นครูเจน คนนี้ ได้ทุ่มเทชชีวิต ให้กับการสอนหนังสือให้ลูกศิษย์จบผ่านไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า จนเกษียณอายุราชการ ยังออกตระเวนขี่มอเตอร์ไซค์สอนหนังสือ ฟรี อย่างต่อเนื่องมาถึง 13 ปี ร่วม 60 โรงเรียน นับเป็นระยะเวลารวมการสอนของครูเจนตั้งอดีตจนถึงปัจจุบันก็ปาเข้าไป 55 ปีแล้ว
ครูเจน พวงมาลี วัย 73 ปี อดีตข้าราชการครูที่เกษียณอายุเมื่อปี 2550 เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการเป็นครูของตนเองว่า ที่บ้านฐานะยากจน เรียนจบแค่ ม.ศ.5 ทางบ้านไม่สามารถส่งเสียให้เรียนจนจบปริญญาได้ จึงได้ไปสอบคัดเลือกเป็นครูในโรงเรียนเอกชน ได้ ด้วยวัยเพียง 17 ปี ก่อนจะมาสอบบรรจุเป็นข้าราชการครูได้อีกในวัยเพียง 20 ปี โดยมีคะแนนเป็นอันดับ 1 ของจังหวัดสุพรรณบุรี ทั้งที่ไม่มีปริญญาบัตร
ครูเจนเล่าว่า “แรกๆก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็นครู แต่ชีวิตเป็นไปตามลีลา พอสอบได้เป็นครู ทำงานไปสักระยะ ก็เลยเห็นว่า การเป็นครู คือ การได้ช่วยพัฒนาคนให้มีความรู้ จึงคิดว่า เป็นครูนี่แหละเหมาะกับตน” หลังจากสอนได้หลายปีครูเจนจึงได้ ไปศึกษาต่อจนจบปริญญาตรี และสอนหนังสือเรื่อยมาจนเกษียณอายุราชการเมื่อปี 2550 ที่โรงเรียน ธรรมโชติศึกษาลัย จ.สุพรรณบุรี
ครูเจน เป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ที่มีทั้งความรู้ ความสามารถ เทคนิคการสอน ทำให้วิชาคณิตศาสตร์ที่ว่า ยากๆเป็นเรื่องง่ายและสนุกสนาน นอกเหนือจากที่เก่งด้านวิชาการแล้ว ครูเจนยังเคยเป็นครูฝ่ายปกครองที่มีความเมตตาต่อศิษย์มาก ครูเจนบอกว่า “เป็นครูที่ใช้ไม้เรียวมาตลอด เวลานักเรียนทำผิดจะต้องตี แต่ตีด้วยเมตตาไม่ใช้อารมณ์ อย่างสมมติว่า จะตี 6 ที ก็จะบอก ให้รู้ว่าทำผิดอะไรแล้วค่อยตี แต่ตีนี่แค่ 2 ที ก่อน แล้วให้โอกาสกลับตัว อีกหนึ่งสัปดาห์หากไม่ทำผิดอีกก็จะลดโทษให้ไม่ตีที่เหลือ เพราะว่า จะได้อบรมไปด้วยว่า เมื่อปรับปรุงตัวก็จะลดโทษให้” ซึ่งลูกศิษย์ส่วนใหญ่ที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตกับครูเจนมา มักจะรำลึกถึงไม่เรียวครูเจน ว่าเป็น “ไม้เรียวสร้างชาติ”
กับคำถามที่ว่า สมัยนี้หลายคนอาจมองว่า หน้าที่ของครู คือการให้ความรู้วิชาการ ทำให้เด็กสอบได้ก็เพียงพอแล้วใช่หรือไม่? ครูเจนบอกว่า “ไม่ใช่ นั่นเป็นหน้าที่ของผู้รับจ้างสอน ครูต้องทำหน้าที่อบรมสั่งสอน คำว่า “อบ” คือ อบให้หอม, “รม” ให้ติดคือให้ความดีติดตัว, "สั่ง"คือ สั่งให้ทำในสิ่งดี, "สอน" คือสอนวิชาการความรู้ ย้ำว่า ครู ไม่ใช่ ผู้รับจ้างสอน”
ชีวิตหลังเกษียณอายุราชการในปี 2550 ครูเจนได้ถูกทาบทามให้สอนหนังสือต่อ แต่ครูเจนได้ปฏิเสธไป เพราะต้องการให้ครูรุ่นหลังๆได้เติบโตในหน้าที่การงานบ้าง ส่วนตนเองจะทำตามอุดมการณ์ของตัวเองที่คิดไว้ คือ เป็นครูจิตอาสาตระเวนสอนหนังสือโดยไม่คิดค่าตอบแทนใดๆ ตั้งปณิธานจะเดินตามรอยพ่อ(ในหลวง ร.9) คืนประโยชน์ให้กับสังคม ทำดีเพื่อแผ่นดิน ปิดทองหลังพระ ช่วยเหลือสังคมตามกำลัง มาถึงตอนนี้ก็ทำมาได้ 13 ปีแล้ว ซึ่งโรงเรียนที่ครูเจนจะเลือกไปสอน คือ โรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลางที่มักจะขาดแคลนครูผู้สอนในจ.สุพรรณบุรี เดินทางวันหนึ่งก็ประมาณ 40-50 กิโลเมตร ด้วยมอเตอร์ไซค์คันเก่าๆที่ใช้เป็นพาหนะเดินทางมากว่า 30 ปี
นอกจากครูเจนจะเป็นครูจิตอาสาแล้ว ครูเจนยังเป็นนักประพันธ์บทกวีทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ทำเป็นหนังสือระดมทุนการศึกษาให้แก่เด็กที่ยากไร้ได้มีโอกาสทางการศึกษาอีกด้วย ซึ่งทางรายการอดไม่ได้จะให้ครูแต่งกลอนเกี่ยวกับคำว่า “ครู” มาฝากกันด้วย
“เปรียบครูเป็นเช่นเทียน เปล่งแสงส่อง
พัฒนาศิษย์ทั้งผองทั้งชายหญิง
ทุ่มอุทิศกายใจไม่ประวิง
ครูสร้างสรรค์ทุกสิ่งยิ่งกว่าเทียน
ครูชี้แนะแนวทางอย่างจริงแท้
อุดมการณ์แน่วแน่แม้เกษียณ
มิใช่เป็นแค่ครูอยู่โรงเรียน
ไม่เคยเปลี่ยนความเป็นครูอยู่ยืนยง”


ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ทุกวันเสาร์ เวลา 9.00-10.00 น.
ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 (IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211)
และ Facebook Live ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.facebook.com/KonJingJaimaitor

รับชมรายการย้อนหลังได้ทางยูทูบ ฅนจริงใจไม่ท้อ
https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos
หมวดหมู่
Film
เข้ามาเป็นคนแรกสำหรับการแสดงความเห็นวิดีโอนี้