แหวนวิเศษ ภาพยนตร์ฝีพระหัตถ์ ร.7 อานันท์ นาคคง เรียบเรียงดนตรีใหม่ พ.ศ.2552





89 เข้าชม
Published
ภาพยนตร์เรื่องแหวนวิเศษที่ท่านจะได้ชมนี้ ถือว่าเป็นของวิเศษจริงๆในโลกของการสร้างสรรค์งานภาพยนตร์ นอกจากจะเป็นผลงานที่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งได้ทรงสร้างขึ้นด้วยพระปรีชาสามารถทั้งการผูกเรื่อง การกำกับ การถ่ายทำ และการตัดต่อ ซึ่งนับว่าเป็นคุณสมบัติอันสำคัญรอบด้านของคนทำงานภาพยนตร์แล้ว ก็ยังเป็นการใช้กลวิธีการสอดแทรกคุณธรรมและจินตนาการผ่านการเล่าเรื่องอย่างสนุกสนาน สื่อสารด้วยภาษาง่ายๆ ตัวละครทุกตัวในเรื่อง สวมบทบาทโดยพระประยูรญาติในราชวงศ์จักรี หากใช้ชีวิตหน้าจอเหมือนชาวบ้านทั่วไป ใช้ภาษาชาวบ้านในการพูดคุยสนทนา แทรกอารมณ์ขันตามสมควร มีการวาดการ์ตูนลายเส้นประกอบ และเป็นภาพยนตร์ที่ทุกผู้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างไม่ต้องมีกรอบกฏเกณฑ์มากั้น

ภาพยนตร์เรื่องนี้ เปิดฉากที่ท้องทะเลแห่งหนึ่ง นายคง ชายชาวประมงพายเรือลำหนึ่งมาขึ้นเกาะร้าง ในเรือลำนั้นมีเด็กๆอยู่ห้าคน เจ้าเก่ง เจ้าตะกละ เจ้าซน เจ้าขี้เกียจ และหนูแหวน ทั้งห้าเป็นลูกติดหญิงหม้ายที่นายคงได้มาเป็นภรรยาใหม่ แต่ด้วยความจน ไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กทั้งหมดนั้นได้ นายคงจึงวางแผนที่จะเอาไปปล่อยทิ้งไว้ในเกาะ เด็กๆถูกบังคับให้ออกไปหาอาหารกลางป่าลึกเพราะนายคงหวังว่าจะหลงทางกลับไม่ได้ แต่มีนางพรายน้ำใจดีมาพบกับเด็กๆแล้วมอบแหวนให้วงหนึ่ง แหวนนั้นมีอำนาจวิเศษเมื่อผู้สวมใส่ชี้ไปที่อะไรแล้วนึกปรารถนาก็จะได้สิ่งนั้นดังใจ เด็กๆที่หิวโหยเลือกเสกขนมมากินกันจนอิ่ม จากนั้นก็เอาก้อนหินคนละก้อนหิ้วกลับไปฝากนายคง เมื่อนายคงเห็นเข้าไม่พอใจก็ต่อว่าต่อขาน แต่เมื่อเด็กๆเสกให้ก้อนหินนั้นเป็นผลไม้ต่อหน้า นายคงก็เกิดอัศจรรย์ใจ ยิ่งทราบถึงอิทฤทธิ์ของแหวนจากปากคำของเด็กๆก็ยิ่งเกิดความโลภ ในที่สุดก็คิดชั่ว หลอกให้เด็กๆนอนหลับเพื่อจะฆ่าทิ้งเอาแหวนมาเป็นสมบัติของตนเสีย แต่เจ้าเก่งก็ตื่นขึ้นมาทันที่นายคงกำลังเงื้อง่ามีดพร้าจะฆ่าฟัน เกิดการต่อสู้กันขึ้น ในที่สุดนายคงถูกสาปเป็นสุนัข เด็กๆก็ล้อเลียนสุนัขนั้นกันอย่างสนุกสนาน จนหนูแหวนน้องคนสุดท้องนึกสงสาร วอนพี่ๆขอให้คืนคำสาป เสกสุนัขมาเป็นพ่อดังเดิม และเป็นพ่อที่ใจดีที่สุดในโลก เมื่อนายคงกลับมาเป็นคน ก็รู้สึกสำนึกผิด ขอโทษในความร้ายกาจที่เคยกระทำมาแก่ลูกๆ แล้วชักชวนกันเดินทางกลับบ้าน ก่อนที่เรือจะออกนั้น แหวนวิเศษก็หล่นน้ำหายไปในทะเล แต่ว่าทุกคนก็มิได้เสียใจในความสูญเสียของวิเศษนั้นแต่อย่างใด เพราะสิ่งที่ได้กลับคืนมานั้นวิเศษยิ่งกว่า นั่นคือความรักของครอบครัว ความรักที่จะเดินทางฝ่าคลื่นลมกลับไปสู่บ้านอันแสนสุขที่รอคอยทุกชีวิตอยู่ในอีกฟากฝั่งหนึ่งของท้องทะเลกว้างใหญ่

การอนุรักษ์ภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นงานชิ้นสำคัญของหอภาพยนตร์แห่งชาติ ซ่อมแซมคุณภาพของฟิล์มต้นฉบับ ทำสำเนาใหม่ ค้นคว้าข้อมูลโดยคุณโดม สุขวงศ์ นำออกเผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2527 ที่หอภาพยนตร์เมื่อครั้งตั้งอยู่ในบริเวณหอศิลปแห่งชาติ ถนนเจ้าฟ้า พระนคร แล้วนำออกเผยแพร่ต่อเนื่องอีกหลายวาระหลายสถานที่ ทั้งสาธารณะและในงานเฉพาะกิจ เทคนิคการนำเสนอนั้น เนื่องด้วยเป็นภาพยนตร์เงียบ จึงได้กำหนดให้มีวงดนตรีบรรเลงสดหน้าจอ และเนื่องจากเป็นหนังที่มีเด็กๆเป็นดาราส่วนใหญ่ วงดนตรีหน้าจอก็ต้องเป็นวงเด็กเล่นไปด้วย ในครั้งแรกที่แสดง มีวงดนตรีเด็กชื่อ “กอไผ่” ทำหน้าที่บรรเลงดนตรีสดประกอบ โดยการเรียบเรียงดนตรีของอานันท์ นาคคง เป็นลักษณะดนตรีทดลอง ตีความไปตามบุคลิกของตัวละครต่างๆในเรื่อง นำเพลงไทยเดิมทำนองสนุกๆมาตัดต่อใหม่ วงกอไผ่ได้ทำหน้าที่ต่อเนื่องมาอีกหลายเวที หลายโอกาส แม้ว่าจะเลยวัยเด็กกันไปหมดทั้งวงแล้วก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีวงดนตรีอื่นๆที่เคยบรรเลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ควรบันทึกไว้ด้วย อาทิ วงดอกเตอร์แซ็กแชมเบอร์ออร์เคสตรา วงดุริยางค์กรมศิลปากร วงดุริยางค์ทหารบก ฯลฯ แต่ละวงมีวิธีการบรรเลงต่างกันไป

การบรรเลงดนตรีสดหน้าจอภาพยนตร์นั้น เป็นธรรมเนียมที่เคยได้รับความนิยมกันมาตั้งแต่ครั้งโรงภาพยนตร์ในเมืองบางกอกยุคต้นรัชกาลพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนำภาพยนตร์ต่างประเทศมาฉาย ก่อนจะถึงยุคที่ภาพยนตร์มีเสียงในฟิล์ม การเล่นดนตรีสดๆและพากย์สดๆถือเป็นเสน่ห์ที่สำคัญในบรรยากาศโรงภาพยนตร์ย้อนยุค จะมีวงเครื่องสายผสมบ้าง แตรวงบ้าง มาบรรเลงเพลงโหมโรงหน้าประตูทางเข้า โฆษณาเชิญชวนให้คนมาดูภาพยนตร์ และบรรเลงประกอบการเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ในจอ วงดนตรีประกอบหนังเงียบที่ถือเป็นตำนานของการทำงานเช่นนี้ ได้แก่วงนายกุ๊น นายโนรี บรรเลงตามโรงภาพยนตร์ต่างๆ ต่อมาเมื่อสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีภาพยนตร์เสียงในฟิล์มเข้ามาฉาย การบรรเลงดนตรีสดหน้าโรงและหน้าจอจึงสาบสูญไป

สำหรับการทำงานเพลงประกอบภาพยนตร์แหวนวิเศษในครั้งนี้ (พ.ศ. 2552) วงกอไผ่ได้รื้อฟื้นวิธีการที่นายกุ๊น นายโนรี เคยใช้ปฏิบัติมาเป็นพื้นฐานการวางเพลงและการสร้างสีสันให้กับภาพยนตร์เงียบ ใช้เครื่องสายไทยผสมกับเครื่องดนตรีไฟฟ้าสากล อาจมีความแตกต่างจากดนตรีเพื่อการฟังเนื่องด้วยจุดหมายคือรับใช้ภาพเคลื่อนไหวเป็นสำคัญ เพลงหลักๆที่นำมาใช้ ได้แก่ เพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง เพลงเขมรละออองค์เถา (พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๗) เพลงโล้ (หน้าพาทย์ -การเดินทางทางน้ำ) เพลงแสนคำนึง (หลวงประดิษฐไพเราะ) เพลงด้อมค่าย (หลวงประดิษฐไพเราะ) เพลงเขมรพายเรือ (สองชั้นของเก่า, ชั้นเดียวของครูเฉลิม บัวทั่ง) และเพลงข่า (ของเก่า) เรียบเรียงดนตรีใหม่โดยอานันท์ นาคคง ร่วมบรรเลงโดย ประสาร วงษ์วิโรจน์รักษ์, อัษฎาวุธ สาคริก, ชัยภัค ภัทรจินดา, ณัฐพันธ์ นุชอำพัน, รัชวิทย์ มุสิการุณ, อมร พุทธานุ, วัชระ ปลื้มญาติ บันทึกเสียงโดย มารุต นพรัตน์

งานบันทึกเสียงครั้งนี้ได้รับความอนุเคราะห์เครื่องมือและสถานที่จากมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) บันทึกและผสมเสียงเสร็จสิ้นระหว่างวันที่ 9 – 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
หมวดหมู่
Film
เข้ามาเป็นคนแรกสำหรับการแสดงความเห็นวิดีโอนี้